









วัดร้องแงง
วัดร้องแง เป็นวัดโบราณของอำเภอปัว มีวิหารเก่าแก่โดดเด่นและงดงามด้วยวิหารศิลปะไทยลื้อ โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัดเก่าแก่ ของเมืองน่าน วัดร้องแงได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เป็นรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปะ สถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทปูชนียสถานและวัดวาอาราม โดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้รับรางวัล อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่7 ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมดีเด่น ลักษณะของวิหารหน้าบันเป็นลายพันพฤกษา วิหาร มีหลังคาคลุมต่ำ ในวิหารมีพระประธานปางมารวิชัย ผนังหลังองค์พระมีจิตรกรรมเรื่องพุทธประวัติและมีราชชาดก ฝีมือของช่าง พื้นถิ่น บนเสาวิหารมีลวดลายสีทองบนพื้นสีแดง หรือ ลายคำ ที่ไม่ซ้ำกัน เช่น ลายกรวยเชิง ลายพรรณพฤกษา ลายดอกไม้ เป็นต้น
นอกจากนี้ไม่ควรพลาดชมธรรมาสน์ทรงโบราณแบบดั้งเดิมของล้านนาที่หาชมได้ยากด้านหน้าวัดมีทางเดินผ่านทุ่งนาไปยัง หอเทพญารินทร์เจ้าหลวงช้างเผือกงาเขียว ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลกัน ในช่วงฤดูทำนา วิวระหว่าง ทางเดินเห็นวิวทุ่งนาปลูกแทรกไปกับบ้านของชาวบ้าน รวมถึงด้านหลังหอคำหลวงสามารถเห็นวิวทุ่งนาได้แบบกว้างไกลซึ่งงดงามมาก เจ้าหลวงช้างเผือกงาเขียว เป็นบรรพบุรุษของชาวไทลื้อ บ้านร้องแง จากคำบอก้เล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่เล่าสืบต่อกันมาว่า เจ้าหลวงช้างเผือกงาเขียว เดิมเป็นเจ้าเมืองรินทร์อยู้แคว้นสิบสองปันนาและได้ติดตามพญาแสนแก้วกษัตริย์แคว้นสิบสองปันนา มาทำสงคราม ได้พาแม่ทัพนายกองและบริวารอพยพหนีข้าศึกมาตั้งเรือนใกล้แม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองปัวในปัจจุบัน แต่ข้าศึกก็ยังตามมาราวีอีก เจ้าหลวงจึงได้เกณฑ์กำลังพลเพิ่มเติมต่อสู้กับข้าศึกจนถอยร่นและพ่ายแพ้ไปในที่สุด ครั้นเมื่อเจ้าหลวง ถึงแก่กกรรมจึงได้มีการสร้างหอและอนุสาวรีย์ไว้เป็นที่สักการะบูชา
การเดินทาง จาก อ.ปัว ผ่านธนาคารกสิกรไทย กลับรถตรงเกาะกลางเลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทาง 1256 ทางเข้าตรงข้าม โรงเรียนวรนครเข้าไป ประมาณ 200 เมตร และแยกซ้ายอีก 200 เมตร ผ่านวัดพระธาตุเบ็งสกัด หลังจากนั้นขับตรงไปเรื่อยๆถึงบ้านร้องแง จะเห็นวัด อยู่ทางด้านซ้ายมือ มีป้ายบอกชัดเจน